About Us

วิสัยทัศน์

ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

เป็นผู้นำในการให้บริการงานวิเคราะห์ทดสอบ การบริการวิชาการด้วยการสร้างเครือข่ายในการสร้างและใช้นวัตกรรม

องค์ความรู้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม(วทน.) เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรและท้องถิ่น และมุ่งสู่มาตรฐานสากล

พันธกิจ

  • บริการวิเคราะห์ทดสอบ และการใช้ประโยชน์ จากเครื่องมือวิทยาศาสตร์อย่างมีมาตรฐาน
  • บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่กลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายผู้ประกอบการ
  • พัฒนาขีดความสามารถ ของกำลังคนในพื้นที่บริการ
  • บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เพื่อการเรียนการสอนและการวิจัย

ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา

  • พัฒนาการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ทางวิทยาศาสตร์แบบเบ็ดเสร็จ
  • พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหารายได้
  • การนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์

ประวัติ

ในช่วงแผนพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2530–2534) ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ จากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่อย่างรวดเร็วในอัตรา เร่งที่สูงมากก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ ได้แก่

  • การขาดแคลนกำลังคนทั้งในระดับกลาง และระดับสูง ด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ อันสืบเนื่องจาก นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมและขยายอุตสาหกรรม ไปสู่ปริมณฑลที่อยู่รอบๆกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
  • การพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประเทศไทยมีการดำเนินการน้อยมาก ด้านการวิจัยและพัฒนา ท้องถิ่นที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ของตนเอง และการนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและเศรษฐกิจ ได้อย่างเหมาะสม
  • ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่อยู่ในชนบท ยังมีความล้าหลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียบ กับประชาชนในชุมชนเมือง ไม่สามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการประกอบอาชีพของตนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แหล่งบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะช่วยแนะนำ การประยุกต์ใช้และแก้ปัญหาของตนเอง และชุมชน ด้วยเทคโนโลยี มีไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ
  • ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือย และขาดความระมัดระวัง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือน้อยอยู่แล้ว ร่อยหรอและเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลเสียตามมานั้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อสภาพลมฟ้าอากาศและต้นกำเนิดแหล่งน้ำต่างๆ

การพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างมีดุลยภาพกับชีวิตมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อปัญหาหรือผลข้างเคียงตามมานั้น จะต้องประกอบด้วยแนวดำเนินการ ดังนี้

  • การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ในระดับต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น และประเทศทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ
  • การพัฒนาพลเมืองทั่วไปของประเทศให้มี ความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีทักษะ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ สามารถตัดสินใจ เกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล มีเจตคติและค่านิยมเชิงวิทยาศาสตร์รู้จักเลือกและใช้วิทยาศาสตร์

จากสภาพปัญหาที่กล่าวข้างต้นชี้ ถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ควบคู่กับการผลิตและพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกรมการฝึกหัดครู จึงได้กำหนดนโยบายและมาตรการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาท้องถิ่น ประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และได้จัดทำโครงการพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในวิทยาลัยครู โดยได้เลือกวิทยาลัยครู 13 แห่ง อยู่ในโครงการ

ซึ่งวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ได้รับคัดเลือกได้รับเงินงบประมาณแผ่นดิน 35 ล้านบาท ในการก่อสร้าง พ.ศ. 2537 และทำพิธีเปิดอาคารเมื่อ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 และได้เริ่มดำเนินงาน ตามวัตถุประสงค์ และภารกิจของการจัดตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้มีการระดมทรัพยากรและบุคคลจากทุกคณะ มามีส่วนร่วมรับผิดชอบดำเนินงาน และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการการดำเนินงานที่ประกอบด้วย บุคลากรจากทุกคณะ มีการพัฒนาบุคลากร เพื่อรับผิดชอบงานของศูนย์ฯ โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2536 แต่สภาพปัญหาที่พบคือ การบริหารศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านมา ยังเป็นการแบ่งส่วนราชการที่ไม่เป็นทางการทำให้การบริหารทรัพยากร โดยเฉพาะด้านบุคลากร งบประมาณ และวัสดุครุภัณฑ์ไม่มีความชัดเจนและคล่องตัว ส่งผลให้การปฏิบัติภารกิจของศูนย์ฯ มีประสิทธิภาพไม่สมบูรณ์

จนกระทั่งในวันที่ 10 สิงหาคม 2550 ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ได้ออกประกาศให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานในกำกับมหาวิทยาลัยเทียบเท่าคณะขึ้นไป เพื่อสามารถปฏิบัติภารกิจที่สนองตามปรัชญามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่กล่าวว่า “เป็นสถาบันเพื่อการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างสรรค์ศิลปวิทยาโดยมุ่งบริการเครื่องมือ อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ระดับสูงและปฏิบัติภารกิจที่สนองตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ในด้านการศึกษาวิชาการขั้นสูง การวิจัย บริการทางวิชาการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น